hehe
โมก

โมก

โมก....ไม้(พื้น)เมืองเดิม

โมกแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์: Wrightia dubia (Sims) Spreng. วงศ์ APOCYNACEAE
ชื่ออื่น มุก, มูก (ตรัง); มูกมัน (ภูเก็ต); โมกป่า (จันทบุรี); โมกมัน (นครราชสีมา)

ลักษณะทั่วไป

ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2-5 เมตร เรือนยอดโปร่ง ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านนัก ใบ รูปรี แผ่นใบบาง ดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ 1-4 ดอกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งหรือที่ปลายกิ่ง มี 5 กลีบ แหลมและบิด ดอกรูประฆังห้อยลง สีส้มแดงอยู่ใต้ใบ ดอกบานเพียงวันเดียว กลิ่นหอมอมเปรี้ยว ออกดอกตลอดทั้งปี มีถิ่นกำเนิด เอเชียเขตร้อน เขตการกระจายพันธุ์ที่กัมพูชา เวียดนาม และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่จังหวัดจันทรบุรี และพบทั่วไปทางภาคใต้ ขึ้นในป่าดิบชื้น ระดับความสูงจนถึงประมาณ 400 เมตร ปลูกในดินร่วนระบายน้ำดี เติบโตได้ดีในที่ร่มรำไร ชอบความชื้นในอากาศและในดินสูง

การขยายพันธุ์ "ผล" เป็นฝักคู่ โคนฝักติดกัน พอแก่แห้งจะแตกอ้าออก เห็นเมล็ดเป็นเส้น มีขนสีขาวเป็นพู่คล้ายปุยนุ่นที่ปลายสามารถปลิวตามลมได้ไกล ไปตกที่ใดถ้าเมล็ดยังไม่ฝ่อ เมื่อได้น้ำจากธรรมชาติ จะแตกเป็นต้นใหม่ขึ้นมาเองได้ ซึ่งอาจเป็นไม้กลายพันธุ์ ดอกและต้นจะมีลักษณะแตกต่างไปจากพันธุ์เดิมได้ เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือแยกหน่อจากรากใต้ดิน

ประโยชน์

  • เปลือก - เนื้อไม้ต้มน้ำดื่มช่วยป้องกันแก้เส้นโลหิตฝอยแตกได้
  • เป็นไม้ดอก ไม้ประดับ

 

โมกลา

ชื่อวิทยาศาสตร์ Wrighlia religiosa Benth. วงศ์ APOCYNACEAE
ชื่อพื้นเมือง โมก โมกลา โมกซ้อน โมกบ้าน หลักป่า โมกกอ โมกน้ำ

ลักษณะทั่วไป

ไม้พุ่มสูง 2-5 เมตร ไม่ผลัดใบ เปลือกสีน้ำตาลดำ แตกกิ่งต่ำใกล้ผิวดินกิ่งเปราะทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวทรงพุ่มทึบ ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน รูปรี กว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาว 3-6 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบค่อนข้างมน ใบสีเขียวอมเหลือง มีใบมาก ดอกออกที่ซอกใบ บริเวณปลายกิ่งมี 2-8 ดอก ก้านดอกเรียวเล็ก ยาว 2-3 เซนติเมตร ทำให้ดอกห้อยลง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเล็กน้อยปลายแยกเป็น 5 กลีบ รูปไข่ สีขาว เกสรตัวผู้มี 5 อัน ดอกบานขนาด 1-2 เซนติเมตร กลิ่นหอมเย็น ดอกออกตลอดปี แต่ออกดอกราวกุมภาพันธ์ - มีนาคม

การขยายพันธุ์เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำ ผลโมกลา มีผลเป็นฝักคู่ ปลายโค้งเข้าหากัน ยาว 10-15 เซนติเมตร เมื่อแก่แตกออกเป็น 2 ซีก
เมล็ดมีจำนวนมาก รูปร่างเรียวแหลมหัวท้ายมีสีขาว เป็นกระจุกอยู่ที่ปลาย ช่วยให้เมล็ดปลิวตามลม

นิเวศวิทยา ปลูกได้ในดินสภาพทั่วไป แต่ชอบดินชื้นจัด สามารถปลูกแช่น้ำได้ ถ้าดินมีช่วงแห้งสลับเปียกจะออกดอกตลอดปี ถ้าอยู่ในที่ร่มรำไรใบจะเข้มและบาง แต่ถ้าอยู่กลางแดดใบจะมีสีเขียวเหลือง

โมกซ้อน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wrightia religiosa Benth. ex Kurz วงศ์ : Apocynaceae
ชื่ออื่น : ปิดจงวา (เขมร-สุรินทร์); โมกซ้อน, โมกบ้าน (ภาคกลาง); หลักป่า (ระยอง)

ลักษณะทั่วไป

ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 2-4 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดแผ่กว้าง เปลือกสีน้ำตาล มีจุดประสีขาว มียางมาก ใบเดี่ยวขนาดเล็กออกตรงกันข้าม แตกตามกิ่งไปในแนวเดียวกันเป็นแผงๆ ดอกมีขนดเล็กออกตามซอกใบเป็นช่อ 3 หรือ 5 ดอก ก้านดอกเรียวเล็ก ทำให้ดอกคว่ำหน้าลง เมื่อบานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2 เซนติเมตร ดอกบานวันเดียวแล้วโรย จะทิ้งใบในฤดูหนาว ทนร่มได้ดี ปลูกในอาคารได้นาน ปลูกริมน้ำตก ลำธาร ริมทะเล ทนน้ำท่วมขัง
ประโยชน์ : ปลูกเป็นไม้ประดับ รากเป็นยารักษาโรคผิวหนัง เรื้อน คุดทะราด

โมกมัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wrightia pubescens R.br. วงศ์ : Apocynaceae
ชื่อพ้อง : Wrightia tomentosa var. cochinchinensis Pierre ex Pitard
ชื่ออื่น : โมก, มูก (ภาคกลาง); มูกเกื้อ (จันทบุรี); โมกมัน (ชลบุรี, กาญจนบุรี, นครราชสีมา)

ลักษณะทั่วไป

ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางผลัดใบ สูง 8-20 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีเทาอ่อนถึงน้ำตาล ลักษณะคล้ายไม้ก๊อก ถ้าตัดทุกส่วนที่ยังสดอยู่จะมีน้ำยางสีขาวเหนียวๆ ซึมออกมา เรือนยอดรูปทรงกลม ทึบ กิ่งและยอดอ่อนมีขนนุ่มหนาแน่น ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ติดตรงข้ามเป็นคู่ๆ ทรงใบรูปรีๆ รูปไข่และไข่กลับ กว้าง 3-8 ซม. ยาว 7-18 ซม. โคนใบสอบ ปลายใบเรียวแหลม เนื้อใบบาง มีขนนุ่มทั้งสองด้าน บางทีด้านหลังใบของใบแก่เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง เส้นแขนงใบ มี 8-15 คู่ เส้นใบย่อยเห็นไม่ค่อยชัด

ดอก สีขาวอมเหลือง บิดเวียนเป็นรูปกังหัน ออกรวมกันเป็นช่อแบบเป็นพวงกระจายตามปลายกิ่ง ช่อยาว 4-6 ซม. มหลายดอก ดอกเมื่อเริ่มบานใหม่ๆ ภายนอกสีเขียวอ่อน ส่วนด้านในสีขาวอมเหลือง เมื่อดอกใกล้โรยจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแกมเหลืองหรือม่วงแดง ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 2.5 ซม. กลีบฐานดอกเชื่อมติดกันเป็นกรวยที่โคนกลีบ ปลายแยกเป็นแฉกมนๆ 5 แฉก มีขนแน่นทั้งสองด้าน โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวถึง 10 มม. ปลายแยกเป็นกลีบรูปขอบขนาน 5 กลีบ ในดอกตูมกลีบจะบิดเป็ฯเกลียวตามเข็มนาฬิกา เมื่อดอกบานกลีบจะบิดเวียนกันเป็นรูปกังหัน แต่ละกลีบยาว 8-16 มม. และมีระยางพิเศษสีส้มคล้ำจนถึงสีม่วงอยู่ถัดจากชั้นกลีบดอกเข้าไป ระยางนี้สั้นกว่าเกสรตัวผู้ เกสรตัวผู้ มี 5 อัน ติดอยู่ใกล้ๆ ปากหลอดกลีบดอกด้านใน ก้านเกสรสั้น ส่วนอับเรณูสีขาว รังไข่ รูปรีๆ ภายในแบ่งเป็น 2 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อนมาก ผล เป็นฝักรูปทรงกระบอกยาว 17-35 ซม. โตวัดผ่าศูนย์กลาง 8-13 ซม. มีร่องระหว่างกลางตามยาวฝัก ทำให้ฝักดูเป็นสองพู เมื่อฝักแก่จัดจะแตกอ้าออกตามแนวร่องนี้ ผิวฝักแข็งขรุขระไปด้วยตุ่มช่องระบายอากาศ เมล็ด รูปรีๆ คล้าข้าวเปลือก ปลายข้างหนึ่งจะมีขนสีขาวเป็นพู่ สามารถปลิวไปตามลมได้ไกลๆ

ออกดอกระหว่างเดือน มกราคม - มีนาคม ผลแก่ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม บางทีทั้งดอกและฝักอยู่ในช่วงเดียวกัน

ประโยชน์

  • ใช้ไม้ทำตัวหมากรุก เครื่องเขียน ครอบลูกคิด ทำจะเข้ ซอด้วง ซออู้ ทำพานท้ายและรางปืน
  • ด้านสมุนไพร ตำรายาแผนโบราณ
    เปลือก เป็นยาเจริญอาหาร ทำให้ประจำเดือนปกติ แก้พิษสัตว์กัดต่อย แก้โรคไต
    ยางจากต้น แก้บิดมูกเลือด ใบ ขับน้ำเหลือง
    ดอก เป็นยาระบาย
    เนื้อไม้ ขับเลือด ราก รักษาพิษงู

โมกใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Holarrhena pubescens Wall. ex G.Don วงศ์ : Apocynaceae
ชื่ออื่น : ซอทึ, พอแก, ส่าตึ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); พุด (กาญจนบุรี); พุทธรักษา (เพชรบุรี); มูกมันน้อย, มูกมันหลวง, มูกหลวง, โมกเขา, โมกทุ่ง, โมกหลวง (ภาคเหนือ); โมกใหญ่ (ภาคกลาง); ยางพูด (เลย); หนามเนื้อ (เงี้ยว-ภาคเหนือ)


ลักษณะทั่วไป

ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 5-10 เมตร ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม กว้าง 3.5-14 ซม. ยาว 7-30 ซม. ก้านใบยาว 0.4-1.2 ซม. แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ รูปรีหรือขอบขนาน โคนใบป้านหรือรูปลิ่ม ปลายเรียวแหลม หรือเป็นติ่งแหลม ขอบเรียบ ผิวใบด้านบนและด้านล่างเป็นมัน เกลี้ยง หรือมีขนสั้นนุ่ม ดอกช่อแบบช่อกระจุก ดอกย่อยมีก้าน ดอกย่อยที่ด้านข้างเท่ากัน มีขนาดเล็กกว่าดอกย่อยที่ตรงกลางช่อ ช่อดอกยาว 4-14 ซม. ก้านช่อยาว 0.9-3.5 ซม. หรือไม่มีก้านช่อ ทุกส่วนเกลี้ยง หรือมีขนสั้นนุ่ม ดอกย่อยประกอบด้วย ก้านดอกย่อยสั้นมากหรือไม่มีก้าน ก้านดอกย่อย วงกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยก 5 แฉก ปลายของแต่ลุแฉกแหลม วงกลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูปดอกเข็ม ปลายแยก 5 แฉก กว้างประมาณ 0.4-0.8 ซม. ยาวประมาณ 0.7-2.3 ซม. สีขาว รูปขอบขนาน ปลายมน เกสรเพศจำนวน 5 อัน แยกกัน เกสรเพศเมีย 1 อัน อยู่เหนือวงกลีบ ผลแตกแนวเดียว รูปแถบเรียวยาว กว้างประมาณ 0.5 ซม. ยาว 37-45 ซม. ก้านผลยาว 1.6-2.5 ซม. เมล็ดจำนวนมาก มีปีกบาง

ประโยชน์

  • ปลูกเป็นไม้ประดับ
  • เนื้อไม้เหนียว ไสกบแต่งได้ง่าย ใช้ทำสันแปรง กรอบรูป เครื่องตกแต่งบ้าน เครื่องใช้สอย ได้แก่ ไม้เท้า ด้ามปากกา ไม้บรรทัด ไม้ฉาก ตะเกรียบ หวี ของเล่นสำหรับเด็ก
  • เปลือกไม้มีสรรพคุณทางยาเกี่ยวกับการรักษาโรคบิด

โมกพวง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wrightia religiosa Benth. วงศ์ : Apocynaceae

ลักษณะทั่วไป :

เป็นไม้พุ่มเตี้ยขนาดเล็กสูงประมาณ 2 - 3 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากไม่ค่อยเป็นระเบียบออกดอกตลอดปี (ออกดอกมากช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว) มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย สามารถควบคุมการออกดอกได้ด้วยการควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยที่เหมาะสม โมกพวงเป็นพันธุ์ไม้ที่ใบไม่ค่อยร่วงและใบบาง ทำให้ย่อยสลายได้ง่ายจึงไม่มีภาระในการเก็บใบทิ้ง

การขยายพันธุ์ : การตอน โมกเป็นไม้มียาง ควรล้างยางออกก่อนหุ้ม ฮอร์โมนมีความจำเป็นระดับหนึ่งในการตอน ใช้เวลาในการออกราก 1.5 - 2 เดือน ควรรตอนช่วงฤดูฝน

ประโยฃน์

  • ยาง ใช้แก้โรคบิดที่มีอาการเลือดออก ใช้แก้พิษงูและแมลงกัดต่อย
  • ราก รักษาโรคเรื้อน

โมกแคระ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wrightia religiosa Benth. "variegata".วงศ์ : Apocynaceae
ชื่ออื่นๆ โมกเวียดนาม

ลักษณะทั่วไป

เป็นไม้พุ่มเตี้ยขนาดเล็กสูงประมาณ 2 - 3 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากไม่ค่อยเป็นระเบียบแต่ค่อนข้างกลม ออกดอกตลอดปี (ออกดอกมากช่วงปลายฤดูฝน - ต้นฤดูหนาว) ดอกหอมช่วงเย็น - เช้า:มีความหอมแรง (เมื่อเทียบกับพันธุ์ไม้หอมที่มีดอกเท่ากัน) สามารถควบคุมการออกดอกได้ด้วยการควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยที่เหมาะสม โมกแคระมีข้อจำกัดเรื่องความแข็งแรงของลำต้น ลำต้นอาจหักเสียหายได้หากมีลมแรง ชอบพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง ชอบอยู่กลางแจ้ง การปลูกโมกในที่มีแสงแดดไม่เพียงพอ จะทำให้ต้นสูงชะลูดและไม่ค่อยออกดอก

การขยายพันธุ์ : การเสียบยอด โดยใช้โมกมันเป็นต้นตอ พบได้ทั่วไป

ประโยชน์

  • ยาง ใช้แก้โรคบิดที่มีอาการเลือดออก ใช้แก้พิษงูและแมลงกัดต่อย
  • ราก รักษาโรคเรื้อน

โมกด่าง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wrightia religiosa Benth. "variegata" วงศ์ : Apocynaceae
ชื่ออื่นๆ :ปิดจงวา (เขมร) โมกบ้าน หลักป่า

ลักษณะทั่วไป

ไม้พุ่มเตี้ยขนาดเล็กสูงประมาณ 1.5 - 2 เมตร เพื่อความสะดวกในการตัดแต่งทรงพุ่ม หากปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติจะแตกกิ่งก้านสาขามากไม่ค่อยเป็นระเบียบ มีใบด่างเหลืองสลับเขียวสวยงาม และมีดอกที่มีกลิ่นหอมเป็นผลพลอยได้ เหมาะกับพื้นที่ที่เป็นที่โล่งแจ้ง เช่น ตามสนามหญ้าต่างๆ ชอบพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง แต่ก็ยังต้องการน้ำในระดับกลางๆ ในฤดูแล้งควรรดน้ำสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง (รดน้ำพอชุ่ม)

การขยายพันธุ์ : การเสียบยอด โดยใช้โมกมันเป็นต้นตอ
การตอน ใช้เวลา 1.5 - 2 เดือนจึงออกราก และมีความจำเป็นที่ต้องใช้ฮอร์โมนช่วยเร่งการออกราก

ข้อแนะนำ :
โมกซ้อนด่างเป็นพันธุ์ไม้ที่นิยมขยายพันธุ์โดยการเสียบยอด โดยใช้โมกมันเป็นต้นตอ
หากพบยอดที่แตกใหม่มีใบสีเขียวควรเด็ดทิ้งทั้งหมด หากปล่อยไว้ กิ่งก้านที่ใบสีเขียวจะเจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่ากิ่งก้านที่ใบด่างที่เราต้องการ และทำให้ส่วนใบด่างค่อยๆ ตายได้หากปล่อยไว้นานๆ การตัดแต่งทรงพุ่มควรทำอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง จะทำให้ทรงพุ่มแน่นสวยงาม
การตัดแต่งบ่อยๆ จะทำให้ใบของโมกซ้อนด่างมีขนาดเล็กลง แต่มีจำนวนใบเพิ่มมากขึ้น หากพบอาการดังกล่าว ไม่ต้องตกใจ เพราะว่าลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะที่ต้องการโชว์ทรงพุ่ม สามารควบคุมทรงพุ่มให้สวยงามได้ง่ายในภายหลัง
รูปทรงที่นิยม ทรงกลมที่ปลายกิ่ง ทรงเหลี่ยม ใช้ประดับสวนและสนามหญ้าได้ด

ประโยชน์

  • ยาง ใช้แก้โรคบิดที่มีอาการเลือดออก ใช้แก้พิษงู และแมลงกัดต่อย
  • ราก รักษาโรคเรื้อน

โมกหลวง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Holarrhena pubescens (Buch.-Ham.) Wall. ex G. Don (H. antidysenterica wall.)
วงศ์ : APOCYNACEAE
ชื่ออื่น : พุด (กาญจนบุรี) พุทธรักษา(เพชรบุรี) มุกมันน้อย มูกมันหลวง มุกหลวง โมกเขา โมกทุ่ง(เหนือ) โมกใหญ่ (กลาง) ยางพุด (เลย) หนามเนื้อ(เงี้ยว-พายัพ)

ลักษณะทั่วไป

ไม้ยืนต้น สูง 8 - 15 เมตร ทุกส่วนมียางขาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามรูปไข่ หรือรูปวงรี กว้าง 5 - 12 ซม. ยาว 10 - 20 ซม. ผิวใบสีเขียวแกมเหลือง ท้องใบมีขนนุ่ม ดอกออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว บริเวณกลางดอกสีเหลือง เป็นช่อเล็กๆมีกลิ่นหอม ส่วนช่อดอกจะมีขน โคนกลีบดอกติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบแผ่ออกเป็น 5 แฉก ผลเป็นฝักคู่ กว้าง 6-7 มิลลิเมตร ยาว 20-30 เซนติเมตร เมื่อแก่จัดจะแตกเป็นสองซีก ภายในมีเมล็ดหลายเมล็ด ยาวประมาณ 15 มิลลิเมตร และมีขนสีนวลติดเป็นกระจุกที่ปลายเมล็ด ดังนั้นเมื่อแตกออกก็จะปลิวตามลมเป็นจำนวนมาก

การขยายพันธุ์ การเพาะเมล็ด

ประโยชน์

  • เปลือก ใช้แก้บิด เจริญอาหาร พบว่ามีแอลคาลอยค์ conessine ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อบิด และเคยใช้เป็นยารักษาโรคบิด อยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งเปลือกที่มีคุณภาพดีต้องเก็บจากต้นที่มีอายุ 8-12 ปี และต้องไม่มีเนื้อไม้ติดมา ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านมีอาการท้องเสียแบบบิด ก็สามารถจะใช้เปลือกโมกหลวงเพื่อดูแลตนเองเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ได้โดยการนำเปลือกต้นโมก-หลวงมาครึ่งกำมือ(6-10 กรัม) ผสมกับผลมะตูมแห้งอย่างละเท่าๆ กัน รวมกับเปลือก รากทับทิมอีกครึ่งส่วน ตำให้เป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งทำเป็นลูกกลอนรับประทานครั้งละ 1-2 กรัม (ของยาที่ผสมแล้ว) หรือต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานวันละ 2 ครั้ง เมื่อรับประทานแล้วอาการดีขึ้นให้รับประทานต่อจนกว่าจะหาย แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบพบแพทย์ใกล้บ้าน
  • ราก มาทุบพอกอาการชาจากโรคเรื้อน ปัจจุบันมีการใช้น้อย เนื่องจากพบฤทธิ์ข้างเคียง ต่อระบบประสาท

โมกราชินี

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wrightia sirikitiae Mid.& Santisuk วงศ์ : APOCYNACEAE

ลักษณะทั่วไป

เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูงประมาณ 4-6 เมตร ทุกส่วนของต้นมียางสีขาวข้น เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอ่อน มีตุ่มใหญ่หนาแน่น ใบ เดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่ มีขนนุ่มประปราย ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อน ผล เป็นฝักคู่คล้ายกระบองยาว ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาลอ่อน ออกดอกและผลในช่วงฤดูร้อน ขึ้นตามซอกหินของภูเขาหินปูนที่แห้งแล้ง ในป่าละเมาะผลัดใบตามธรรมชาติ เนื้อไม้ลักษณะคล้ายไม้โมกมัน มีเพียงจังหวัดเดียวในประเทศไทย ซึ่งหาชมได้ที่ วัดพระพุทธบาท และ วัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์) จังหวัดสระบุรี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง

แหล่งค้นพบในประเทศไทย : โมกราชินีเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก จากการสำรวจพรรณพฤกษชาติภูเขาหินปูน โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย สันติสุข ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการสำรวจและจำแนกพรรณไม้ กรมป่าไม้และราชบัณฑิต ได้พบพรรณไม้ชนิดใหม่ที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ มีดอกสวยงาม เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียว พบเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งเป็นพรรณไม้หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก จากความสำเร็จในการค้นพบครั้งนี้ ทางกรมป่าไม้จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ใช้ชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่ตามพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ว่า " Wrightia sirikitiae Mid.&Santisuk " เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณที่พระองค์ทรงสนับสนุนและทรงริเริ่มโครงการต่างๆ ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในกรประเทศไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่วงการพฤกษศาสตร์ของประเทศไทย
 

ที่มาข้อมูล และภาพ clgc.rdi.ku.ac.th/ , http://www.morninggarden.com